
ลอยกระทง
ประเพณีลอยกระทงนั้นมีมาแต่โบราณ โดยมีที่มาจาก คติความเชื่อหลายอย่าง เช่น เชื่อว่าเป็นการบูชาและขอขมาแม่พระคงคา เป็นการสะเดาะเคราะห์ เป็นการบูชาพระเจ้าในศาสนาพราหมณ์ หรือเป็นการบูชารอยพระพุทธบาท เป็นต้น
การลอยกระทงนิยมทำกันในวันเพ็ญ เดือน 12 ของทุก ๆ ปี อันเป็นฤดูน้ำหลาก น้ำจะเต็มสองฝั่งแม่น้ำ ประกอบกับเป็นวันพระจันทร์เต็มดวง เมื่อแสงจันทร์ส่องกระทบกับท้องน้ำ ก่อให้เกิดบรรยากาศงดงาม เหมาะแก่การลอยกระทงเป็นอย่างยิ่ง และที่สำคัญที่สุด คงเป็นเพราะการกระทำการในคืนวันเพ็ญนั้น แสงจันทร์ส่องสว่าง ก่อให้เกิดความปลอดภัย และสะดวกในการทำกิจกรรม เนื่องจากในสมัยก่อน เรายังไม่มีไฟฟ้าใช้นั่นเอง
สำหรับความเป็นมาของ ประเพณีลอยกระทง กล่าวได้ว่า มีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยเป็นราชธานี จากหลักฐาน ศิลาจารึกหลักที่ 1 ได้กล่าวถึง งานเผาเทียน เล่นไฟ ของสุโขทัยไว้ ซึ่งนักวิชาการต่างเห็นพ้องต้องกันว่า งานดังกล่าวน่าจะเป็น งานวันลอยกระทง
นอกจากนี้ ยังมีการกล่าวถึงใน พระราชนิพนธ์พระราชพิธีสิบสองเดือน และตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ ซึ่งกล่าวถึงประเพณีลอยกระทงไว้ด้วย โดยได้กล่าวว่า นางนพมาศ หรือท้าวศรีจุฬาลักษณ์ พระสนมเอกในพระร่วงเจ้า แห่งกรุงสุโขทัย เป็นผู้ริเริ่มประดิษฐ์กระทง สำหรับลอยประทีปรูปดอกบัวบานขึ้น เป็นคนแรก และประทีปรูปดอกบัวบานของ ท้าวศรีจุฬาลักษณ์ ก็ยังคงรูปแบบมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าจะมีความหลากหลาย ในด้านของวัตถุดิบ ไม่ว่าจะเป็นแป้งขนมปัง ใบตอง กระดาษสา ฯลฯ ก็ตาม